Audio-Technica
Audio-Technica
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2549
หน้า 46
รายงาน
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ร้อนๆ ทำให้คนเกิดภาวะเครียด
ทางออกที่พอจะทุเลาได้ นอกจากวิธีหยุดรับข่าวสารเป็นพักๆ แล้ว วิธีง่ายๆ ที่ได้ผลน่าสนใจคือ…การบรรเทาความเครียดด้วยเสียงดนตรี !
“เวลาเครียดในร่างกายจะมีสารเคมีหลั่งหลายตัว เช่น เบต้าเอ็นดรอฟิน, ACTH และพวกคอซิตอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียด การฟังดนตรีรีแลกซ์ คือดนตรีที่ฟังสบายๆ ซึ่งก็จะช่วยลดฮอร์โมนเหล่านี้ให้น้อยลง…”
ปกติแล้ว โครงสร้างสมองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสารสื่อประสาทอย่าง โนปามีน ฟีโลโตนีน นอร์เอพิเนฟีน ฯลฯ ได้ ถ้าได้ฟังเพลงสบายๆ สารสื่อประสาททั้งสามตัวในเกล็ดเลือดจะเก็บไว้ไม่ปล่อยออกมา แต่ถ้าฟังเพลงที่ไม่รื่นหู เช่น เพลงที่มีทำนองแรงๆ สารสื่อประสาทในเกล็ดเลือดก็จะถูกปล่อยออกมา ส่งผลต่ออารมณ์ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยว่าการฟังดนตรีเกี่ยวข้องกับความจำอีกด้วย” ผศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีสกล ประธานหลักสูตรปริญญาโทสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายให้ฟัง
…แต่เพลงมีมากมาย แล้วแนวไหนที่จะช่วยให้ผ่อนคลายได้ดีที่สุด ?!รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข คณบดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบให้หายสงสัยว่า…ชอบแนวไหนฟังแนวนั้นเป็นดีที่สุด เพราะต่างคนชอบต่างกัน มันขึ้นอยู่กับภูมิหลังของแต่ละคนด้วย
“ทั่วๆ ไป ถ้าเราจะฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย หลักที่ต้องยึดเป็นอันดับแรกคือ จังหวะ จะต้องช้ากว่าอัตราการเต้นของหัวใจ โดยเพลงทำนองช้าๆ จะเหนี่ยวนำให้คลื่นของสมองลดลงสู่คลื่นที่เรียกว่า…อัลฟ่าเวฟ…หรือต่ำกว่านั้น ส่วน จังหวะเร็วๆ จะกระตุ้นคลื่นหัวใจนำไปสู่…คลื่นเบต้า…ซึ่งเราจะพบในภาวะพร้อมที่จะกราดเกรี้ยว ต่อสู้ และหนี …สังเกตว่าไม่มีมโหรีที่ไหนเล่นแล้วยกพวกตีกัน แต่ถ้าฮาร์ดร็อกเพื่อชีวิต ก็ชีวิตใครชีวิตมัน !” น.พ.อุดม เพชรสังหาร ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน สถาบันรักลูก อธิบาย
“อย่างในดนตรีบำบัดที่ใช้กับคนไข้หลายประเภท คือ เวลาฟังต้องปล่อยให้อารมณ์ลอยไปกับดนตรี ทั้งจังหวะและสีสันของท่วงทำนอง มีผลทำให้อารมณ์ล่องลอย ซึ่งเป็นการระบายออก ผ่อนความทุกข์ให้ลดลง ส่งผลต่อในแง่รักษาโรค ซึ่งนักดนตรีบำบัดก็จะเอามาใช้ อีกอย่างหนึ่งคือการเล่นดนตรีแบบด้นสด พอได้ปลดปล่อยได้ระบายก็ทำให้ผู้ถูกรักษาเข้าใจตัวเองและพัฒนาตัวเองได้”
…อานุภาพของดนตรีไม่ได้ส่งผลแค่อารมณ์และความรู้สึกเทˆานั้น น่าสนใจว่าเสียงเพลงที่ลึกซึ้งละเอียดละเมียดละไม สามารถเพิ่มศักยภาพและพัฒนา การทางสมองของเด็กได้อีกด้วย โดยเพลงบรรเลงคลาสสิกสามารถเสริมความคิดจินตนาการได้ดี เพราะไม่มีการตีกรอบด้วยเนื้อเพลง…
โครงการรักลูก Smart Brain จึงจัดบรรยาย “Mozart Music&Intelligence” โดย ดร.ฟรานเชส เราส์เชอร์ ผู้ที่ศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบของเสียงดนตรีกับการพัฒนาสมอง หรือ Mozart Effect มานำเสนองานวิจัย แถมสามีของเธอ ดร.ฌอน ฮินตันก็มาร่วมบรรยายเกี่ยวกับอิทธิพลของเสียงดนตรีกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสมองด้วย
การบรรยายนี้จะจัดขึ้นที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค ในวันที่ 10 พฤษภาคมเป็นรอบของแพทย์ พยาบาล นักวิชาการ และคุณครู ส่วนวันที่ 11 พ.ค. จะเป็นรอบสำหรับคุณพ่อคุณแม่และผู้ที่สนใจทั่วไป
…สำหรับคนทั่วไปไม่ใช่แค่ลดเครียด แต่ดนตรีดีๆ ยังช่วยเสริมพัฒนาการสมองได้ดีด้วย และสำหรับชาวม็อบ เมื่อไรรู้สึกเครียดก็อย่าลืมมองหาดนตรี relax นะขอบอก…
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
kangg