Sphero
ถึงตอนนี้ค่ายมือถือเตรียมลั่นกล้องเปิดบริการคลื่น 2100 MHz เป็นทางการแล้ว โดยเรียงหน้าเปิดตัววันที่ 7-8-9 พ.ค. เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค
สำหรับวันที่ 7 พ.ค. เริ่มจากเอไอเอสจะจัดงานเปิดตัวบริการคลื่น 2100 MHz โดยตลอดเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาทางเอไอเอสได้เริ่มเปิดบริการคลื่น 2100 MHz กับลูกค้าไปบ้างแล้ว โดยพรุ่งนี้จะถือเป็นวันเปิดตัวบริการคลื่น 2100 MHz เป็นทางการ แผนงานเกี่ยวกับคลื่น 2100 MHz ในเบื้องต้นของเอไอเอสคือตั้งเป้าขยายสถานีฐานให้ครบทุกจังหวัดภายในสิ้นปีนี้
ถัดมาวันที่ 8 พ.ค. เป็นคราวของทรูมูฟที่น่าจะมีไม้เด็ดเกี่ยวกับคลื่น 2100 MHz คือการเปิดบริการ 4G LTE บนคลื่นดังกล่าวในกรุงเทพฯบางจุด ซึ่งทรูมูฟเคยจัดงานเปิดตัว 4G LTE ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยในเฟสแรกทรูมูฟจะเปิดบริการ 4G LTE บนคลื่น 2100 MHz ในย่านกลางเมืองอาทิ สยามแควร์, สีลม, สาทร และจะขยายเพิ่มเติมไปตามเมืองใหญ่ในจังหวัดอื่น ๆ อีก 15 เมือง พร้อมกับการวางสถานีฐาน 2,100 สถานีให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
และปิดท้ายวันที่ 9 พ.ค. กับดีแทคที่ตอนนี้โหมโปรโมทชื่อ TriNet ให้ลูกค้าได้รับทราบและจดจำแบรนด์ โดยดีแทคอธิบายบนหน้าเว็บว่า TriNet คือการรวมข้อดีของคลื่น 850, 1800 และ 2100 MHz ที่ดีแทคมีเข้าด้วยกัน โดยดีแทคมีแผนงานติดตั้งสถานีฐานคลื่น 2100 MHz ให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศภายในปีนี้ และครอบคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 ปี
สำหรับลูกค้าของผู้ให้บริการมือถือแต่ละค่ายอย่าลืมติดตามกันให้ดีว่าแต่ละค่ายมือถือมีวิธีเปลี่ยนไปใช้คลื่น 2100 MHz อย่างไรบ้าง
—–
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข้างต้นจาก thairath.co.th คือทางกสทช. ได้ออกมาเผยข้อมูลเกี่ยวกับคลื่น 2100 MHz ว่าทั้ง 3 ค่ายในปัจจุบันมีการตั้งสถานีฐานแล้ว 3,650 สถานีโดยแบ่งเป็น
กรุงเทพ 1,017 สถานี, ปริมณฑล 576 สถานี, ภาคกลาง 470 สถานี, ภาคตะวันออก 511 สถานี, ภาคตะวันตก 33 สถานี, ภาคเหนือ 371 สถานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 294 สถานี และภาคใต้ 378 สถานี
โดยเมื่อแยกย่อยตามแต่ละค่ายมือถือจะแบ่งเป็นของเอไอเอส 3,512 สถานี, ดีแทค 130 สถานี และทรูมูฟ 8 สถานี
ถ้าดูจากตัวเลขจำนวนสถานีฐานในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าดีแทคและทรูมูฟยังไม่เน้นการใช้งานบนคลื่น 2100 MHz มากเท่าไหร่ เพราะทั้งคู่ได้ลงทุนลงแรงไปกับคลื่น 850 Mhz เยอะมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนเอไอเอสที่คลื่นย่ำแย่มาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีคลื่นอื่นนอกจาก 900 MHz เลยทำให้ต้องแบ่งช่องสัญญาณของคลื่น 900 MHz มาทำให้รองรับ 3G ด้วยผลออกมาคือครึ่ง ๆ กลาง ๆ ทั้ง 2G และ 3G พอมาถึงยุคคลื่น 2100 MHz เอไอเอสเลยต้องเร่งติดตั้งสถานีฐานคลื่น 2100 MHz ให้เยอะที่สุดเพื่อลดภาระการใช้คลื่น 3G ที่คลื่น 900 MHz ลงไปให้เร็วที่สุดเพื่อที่คลื่น 900 MHz จะได้กลับมาใช้ในส่วนของการใช้คุยโทรศัพท์ได้ดีอีกครั้ง
ส่วนเรื่องค่าบริการจะถูกลง 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านี้กสทช. เสียงแข็งพูดหนักแน่นว่าค่าบริการบนคลื่น 2100 MHz จะต้องถูกลง มาตอนนี้กลายเป็นว่ากสทช. เสียงอ่อนลงอ้อมแอ้มว่าไม่จำเป็นต้องราคาถูกลง 15 เปอร์เซ็นต์ทุกแพ็กเกจก็ได้ โดย กทค. ได้บอกว่าราคาลดลง 15 เปอร์เซ็นต์เป็นราคาเฉลี่ยของทั้งตลาด เป็นความเข้าใจผิดที่ทุกแพ็กเกจต้องลง 15 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อรวมทุกแพ็กเกจแล้วจะต้องมีค่าบริการเฉลี่ยต่ำกว่า 15% ของค่าเฉลี่ย ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต (อ่านเพ่ิมเติม : prachachat.net)
กสทช. – คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
กทค. – คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม
———–
แล้ว iPhone/iPad รุ่นไหนรองรับคลื่น 2100 MHz บ้าง ?
ต้องตอบว่า…ทุกรุ่นที่ขายเป็นทางการตั้งแต่ iPhone 3G จนถึงปัจจุบันคือ iPhone 5 รองรับการใช้งานคลื่น 2100 MHz ทั้งหมด รวมถึง iPad ทุกรุ่นต่างก็รองรับการใช้งาน 3G คลื่น 2100 MHz ทุกรุ่นเช่นกัน แต่จะต่างกันในเรื่องของการรองรับความเร็วสูงสุงของ Download/Upload ในการใช้งานในแต่ละรุ่นดังนี้
ฉะนั้นการใช้งานจริงแม้เครือข่ายจะปล่อยความเร็ว 3G มาให้แค่ไหน ถ้าเครื่องเรารองรับได้แค่ 7.2Mbps/384 kbps ให้วัดความเร็วด้วยแอพฯ SpeedTest หรืออื่น ๆ ยังไงก็จะได้ไม่เกินข้อจำกัดของตัวเครื่อง จุดนี้มีหลายคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเห็นความเร็วที่วัด ๆ กันได้เร็วมาก ๆ แล้วทำไมบนเครื่องของเราได้น้อยจัง เลยขอเขียนถึงสเป็คให้ทราบโดยทั่วกันเผื่อว่าบนเว็บที่อ่านกับเครื่องที่เราใช้เป็นคนละรุ่นกัน
kangg