Sphero
Adonit – Jot Script เป็นสไตลัสที่มีคนสนใจอยู่พอสมควร ด้วยรูปลักษณ์หัวปากกาที่ต่างไปจากเดิมทำให้อยากรู้ว่าเขียนได้ดีแค่ไหน
สำหรับ Adonit – Jot Script เป็นสไตลัสที่ Adonit ออกแบบใหม่คิดใหม่ต่างจากรุ่นเดิม ๆ เริ่มจากบริเวณหัวสไตลัสจากเดิมสไตล์ของ Adonit จะเป็นหัวที่มีจานพลาสติกเล็ก ๆ รองไว้ พอมาเป็น Jot Script ทาง Adonit ทำหัวสไตลัสเป็นแบบหัวโลหะกลมมนไม่มีจานพลาสติกรองอย่างที่ผ่าน ๆ ทาง Adonit เรียกว่า PixelPoint Technology ซึ่งเมื่อเทียบหัวสไตลัสของ Jot Script กับสไตลัสยี่ห้ออื่น ๆ ทั่วไปจะพบว่าหัวของ Jot Script ที่มีขนาดเพียง 1.9 ม.ม. มีขนาดเล็กกว่ากันอยู่มากพอควร ความรู้สึกตอนที่เห็นหัวสไตลัส Jot Script ผมนึกไปถึงปากกาแบบ Rollerball ที่เวลาเขียนจะลื่น ๆ ส่วนตัวด้ามทำจากอลูนิเนียมดูแข็งแรงดี
ด้านเทคโนโลยีของ Jot Script เป็น Bluetooth 4.0 Low Energy รองรับการใช้งานร่วมกับ iPad 3 ขึ้นไป และ iPhone 4s ขึ้นไป ในกล่อง Jot Script มีแบตเตอรี่แบบ AAA ที่เป็นลิเธียมมาให้ด้วย 1 ก้อน โดยทาง Adonit เคลมว่าแบตเตอรี่ที่ให้มาในกล่องสามารถใช้ Jot Script ได้นานหลายเดือน ซึ่งถ้าในอนาคตแบตเตอรี่หมดเราสามารถหาซื้อแบตเตอรี่ลิเธียม AAA ได้จากซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ ๆ หรือแผนกกล้องถ่ายรูป
น้ำหนักตัวด้ามหลังใส่แบตเตอรี่ AAA เข้าไปแล้ว น้ำหนักกำลังดีไม่หนักไม่เบา การใช้งานเราสามารถใช้เป็นสไตลัสธรรมดาได้กับทุกแอปแต่จำเป็นว่าในตัว Jot Script ต้องมีแบตเตอรี่และกดเปิดใช้งานจึงจะสามารถทำงานทั่ว ๆ ไปได้ หรือถ้าจะใช้งานเต็มประสิทธิภาพสามารถเข้าไปดูรายชื่อแอปที่รองรับการใช้งานได้จาก adonit.net/jot-ready-apps/ ซึ่งแอปที่รองรับการใช้งานร่วมกับ Jot Script คือเราสามารถเปิดใช้งาน Bluetooth เพื่อให้เราสามารถวางมือไปบนหน้าจอ iPad ขณะเขียนได้ด้วย
จุดต่างของ Jot Script กับ Jot Touch ที่เป็นสไตลัสแบบ Bluetooth เหมือนกัน คือ Jot Touch จะเน้นไปทางวาดเขียนตัว Jot Touch และแอปที่รองรับการใช้งานจะมีการรองรับน้ำหนักแรงกดหลายระดับทำให้สามารถตวัดเส้นหนาบางได้ ส่วน Jot Script เน้นการใช้งานเขียนหรือจดตัวหนังสือ ซึ่งจะรองรับในส่วนของ Palm Rejection หรือการวางมือบนหน้าจอขณะที่เรากำลังเขียน แต่ไม่รองรับแรงกดหลายระดับเหมือน Jot Touch
การทดสอบ Jot Script ผมลองใช้งานร่วมกับแอป GoodNotes 4 ถือว่าเป็นแอปสำหรับเขียนที่ดีตัวหนึ่งและรองรับการใช้งานร่วมกับ Jot Script ด้วย การใช้งานเริ่มจากที่เราเปิด Bluetooth กับ iPad จากนั้นก็จัดการเข้าไปที่ส่วนการตั้งค่าของแอปและจัดการเชื่อมต่อ Jot Script ให้แอปรู้จัก ในจุดนี้อย่าลืมกดเปิดเครื่องที่ตัว Jot Script ให้มีสถานะไฟสีเขียนขึ้นมาก่อน โดยขั้นตอนการเชื่อมต่อจะเป็นการจับคู่แบบอัตโนมัติซึ่งเราแทบไม่ต้องไปยุ่งอะไร
ความลื่นไหลในการเขียนตัวหนังสือด้วย Jot Script ด้วยความที่หัวเป็นโลหะแบบกลมมนมาเจอกับหน้าจอกระจกของ iPad ความลื่นหายห่วงได้ ตอนจรดหัวสไตลัสลงที่บริเวณที่ต้องการเขียนก็พอทราบแล้วว่าต้องลื่นแน่ ๆ ซึ่งพอเขียนจริงก็ลื่นและลื่นกว่าที่คิดไว้ด้วย ผมทดสอบด้วยการเขียนไปเรื่อย ๆ ตามที่เห็นในวิดีโอ ด้วยความที่ผมลายมือหวัดมากอยู่แล้วพอเจอ Jot Script ที่ลื่นเป็นพิเศษตอนเขียนทำให้ตัวหนังสือบางตัวก็ตวัดออกมาไม่ค่อยเป็นภาษาเท่าไหร่ ซึ่งก็ต้องมาลบแล้วเขียนใหม่ การใช้งาน Jot Script ร่วมกับ GoodNotes 4 จัดเป็นคอมโบ้ที่ดีมาก เพราะตัวแอปรองรับการใช้งานสไตลัสได้หลากหลายรวมถึง Jot Script ด้วย มีฟังก์ชั่นการวางมือบนหน้าจอขณะเขียนด้วย ทำให้ขณะที่เรากำลังจดค่อนข้างเป็นธรรมชาติในการวางมือเหมือนกับเวลาเราจดหรือกำลังเขียนบนกระดาษ
.
.
มีหลายคนคงอยากรู้เรื่องเสียงเวลาเขียน ๆ บนหน้าจอ iPad ด้วย Jot Script ที่เป็นหัวแข็ง ๆ กระทบไปบนหน้าจอ iPad จะเสียงดังมากน้อยแค่ไหน เผื่อเอาไปใช้จดงานในห้องเงียบ ๆ กลัวจะเป็นจุดสนใจ ผมเลยทำเป็นวิดีโอมาให้ดูด้วย โดยตัวผมเองเวลาเขียนจะเป็นคนที่กดหัวปากกาหนักอยู่เหมือนกันเรียกว่าถ้าเป็นการเขียนบนกระดาษทั่วไปเส้นที่ผมเขียนจะเป็นลายมือไปถึงกระดาษแผ่นถัดไป จุดนี้ผู้อ่านที่สนใจคงต้องคิดตามสักนิดจากสิ่งที่ผมเป็นเทียบกับตัวเองว่าเราเป็นคนลงน้ำหนักมือเบาหรือหนักแค่ไหนเวลาเขียนเพื่อจะได้ทราบว่าตอนใช้งาน Jot Script เวลากระทบหน้าจอ iPad จะดังหรือไม่ดัง
.
.
ด้านประหยัดพลังงานจากที่ adonit บอกไว้คือถ้าเราไม่มีการเขียนอะไรเลยสัก 3 นาทีตัว Jot Script จะตัดการทำงานเองเป็นการประหยัดพลังงาน ในจุดนี้การกลับมาเชื่อมต่อ Jot Script กับแอปที่เราใช้อยู่บางแอปก็ทำได้สมบูรณ์บางแอปก็ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ ที่ไม่สมบูรณ์จากที่เจอกับแอป GoodNotes 4 คือพอเรากดเปิด Jot Script ให้มีไฟสีเขียนขึ้นมาตัวแอปจะทำการเชื่อมต่อให้อัตโนมัติแบบที่ไม่ต้องเข้าไปในส่วนตั้งค่าแต่บางครั้งจะใช้ฟังก์ชั่นปากกาไม่ได้ แต่ใช้ฟังก์ชั่นอื่นในแอปได้ วิธีแก้คือเข้าไปในส่วนตั้งค่าของแอปที่เราใช้งานแล้วตัดการเชื่อมต่อระหว่างแอปและตัว Jot Script ก่อนแล้วค่อยกดเชื่อมต่อใหม่อีกครั้งก็จะกลับมาใช้งานได้เต็มความสามารถอีกครั้ง
จากที่ได้ลอง Adonit – Jot Script เป็นสไตลัสกับคนที่ชอบจดและเขียนมากมากกว่านำไปวาดรูป ซึ่งจริง ๆ จะเอาไปวาดรูปหรือสเก็ตภาพขณะที่เราเขียน ๆ อยู่ก็ได้ไม่มีปัญหาอะไร ตัวแอปที่รองรับการใช้งานเต็มรูปแบบแม้จะมีตัวเลือกจำกัดแต่ก็มีแอปดี ๆ สำหรับการใช้เขียนหรือจดอย่าง GoodNotes 4 เป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ด้วย ก็พอช่วยให้ใช้งาน Adonit – Jot Script ได้สนุกมือมากพอควร
จุดสังเกต
ราคา : 2,690 บาท
เอื้อเฟื้ออุปกรณ์ทดสอบ : Generation S Co., Ltd
หาซื้อสินค้าได้ที่
kangg