Audio-Technica
Audio-Technica
ได้มีโอกาสลองใช้งาน Ink & Slide หรือสไตลัสและไม้บรรทัดจาก Adobe ที่เผยโฉมตั้งแต่ปีที่แล้ว และเพิ่งออกจริงเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
(ก่อนอื่นเลย…ขอบคุณพี่ ขจร พีรกิจ ที่ให้โอกาสได้ไปลองใช้งาน Ink และ Slide ด้วยครับ)
สำหรับ Ink คือสไตลัส และ Slide คือไม้บรรทัด ตัวด้ามสไตลัสของ Adobe ทำออกมาเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมทำจากโลหะบริเวณด้ามมีปุ่มเปิดปิดการใช้งานมาให้ 1 ปุ่ม ด้านที่เป็นหัวปากกาเป็นสีดำผมลองกด ๆ ดูเป็นหัวแข็ง ๆ ยุบเข้าไปได้นิดหน่อย และมาถึงบางอ้อเมื่อได้ฟังคนจาก Adobe พูดว่าหัวสไตลัสของ Adobe เป็นเทคโนโลยี Pixel Point จุดนี้มันคือเทคโนโลยีของ Adonit ที่ผลิตสไตลัสออกมาให้เลือกใช้งานมากมายหลายแบบ ซึ่งหัวสไตลัสที่เป็นแบบ Pixel Point เราเพิ่งรีวิว Adonit – Jot Script เมื่อไม่นานมานี้เอง บริเวณท้ายด้ามของสไตลัสนอกจากจะเป็นส่วนที่เอาไว้ใช้ชาร์จไฟกับที่ฝากล่องใส่สไตลัสที่เป็นที่ชาร์จไฟในตัวด้วย บริเวณท้ายด้ามยังทำให้สีแสงส่องสว่างและเราสามารถเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบผ่านแอปของ Adobe ส่วนตัวผมคิดว่า Ink ทำดีไซน์ดูดีไม่น้อย
หน้าตาของสไตลัสและไม้บรรทัดจาก Adobe (Ink และ Slide)
.
บริเวณท้ายด้ามสไตลัส
.
บริเวณฝากล่องใส่สไตลัสที่เป็นที่ชาร์จไฟให้กับสไตลัส
.
บริเวณฝากล่องใส่สไตลัสที่เป็นที่ชาร์จไฟให้กับสไตลัสเป็นเชื่อมต่อแบบ Micro USB
.
สำหรับไม้บรรทัดที่ชื่อแสนเก๋ว่า Slide ตัวไม้บรรทัดไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ใด ๆ ด้านบนเป็นโลหะมีปุ่มฟังก์ชั่นไว้ใช้งาน 1 ปุ่ม ด้านล่างที่ไว้ทาบกับหน้าจอ iPad เป็นพลาสติกสีขาว ถ้าสังเกตบริเวณพลาสติกสีขาวดี ๆ จะเห็นไว้ข้างในจะมีจุดเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ ในส่วนนี้ผมคิดว่าเป็นจุดสัมผัสกับหน้าจอจริงว่าเราวางไม้บรรทัดอยู่ในรูปแบบไหนอะไรยังไง
จากที่ได้ลองใช้งานอยู่ 3-4 ชั่วโมง แน่นอนว่าคือใช้งานร่วมกับแอปของ Adobe เองได้แก่ Adobe Sketch (ดาวน์โหลดฟรี) การใช้งานทำได้ทั่วไปเหมือนกับสไตลัสที่ใช้ Bluetooth 4.0 คือเราเปิด Bluetooth บน iPad และใช้การเชื่อมต่อจากแอปได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องเข้าไปจับคู่ผ่าน Settings ของ iOS เข้าไปในแอปก็จัดการตั้งค่าให้เจ้า Ink รู้จักกับแอปที่เรากำลังใช้งานเสียก่อน ด้านการใช้วาดรูปต่าง ๆ ในแอปตัวผมเองผ่านการใช้ Adonit – Jot Script ที่เป็นหัวสไตลัสแบบ Pixel Point มาแล้ว พอมาใช้งาน Ink ก็จะรู้สึกว่าเหมือน ๆ กันในแง่ความลื่นไหลเวลาเราขีด ๆ เขียน ๆ การทำงานจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ตัวแอปด้วยอีกส่วน ซึ่งแอป Adobe Sketch ทำได้ดีประมาณหนึ่งเมื่อเทียบกับแอปวาดรูปตัวอื่น ๆ เช่น Tayasui Sketches ที่ทำได้ดีกว่า
สำหรับไม้บรรทัดหรือ Slide ผมได้ลองนิดหน่อยร่วมกับแอป Adobe Line (ดาวน์โหลดฟรี) ตัวแอปจะเน้นการวาดเส้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแอปนี้คนในสายงานสถาปัตย์น่าจะชอบเพราะใช้ร่างแบบอาคาร แบบบ้านได้เลย มีเครื่องมือการวาดในแนวนี้เตรียมมาให้พอสมควร ซึ่งในการใช้งานก็ต้องมีการลากเส้นแบบตรงเป๊ะเข้าไปด้วยเจ้า Slide เลยเข้ามามีส่วนด้วย โดยเมื่อเรานำ Slide มาวางที่หน้าจอแอปก็จะเป็นการเข้าสู่โหมดการวาดเส้นแบบต่าง ๆ ตามที่เราเลือกพอลากสไตลัสไปก็จะขึ้นเป็นเส้นตรงแด๋วมาให้ทันที
แต่กระนั้นการใช้งาน Slide เอาจริง ๆ คือไม่ต้องมีเป็นฮาร์ดแวร์ก็ได้ เพราะในแอป Adobe Line เขาก็มีฟังก์ชั่นไม้บรรทัดเสมือนมาให้ใช้งาน ซึ่งความสามารถก็เหมือนกับที่เราใช้งาน Slide ทุกประการ แล้วแบบนี้ Slide จะออกมาขายทำไมกัน
สำหรับแอปอื่นของ Adobe ที่ออกมาก่อนหน้านี้อย่าง Photoshop touch, Photoshop Express, Adobe Lightroom เป็น 3 แอปตกแต่งรูปที่ซ้ำซ้อนกันของ Adobe ยังไม่รองรับการใช้งานกับสไตลัสของตัวเอง ส่วนแอปอื่นของ Adobe ก็ยังไม่มีอัพเดทให้รองรับการใช้งาน Ink เต็มรูปแบบเช่นกัน
จากที่ได้ลองใช้งาน Ink and Slide ในส่วนของ Ink มันคือสไตลัสของ Adonit ดี ๆ นี่เอง นอกจาก Adonit – Jot Script ที่เป็นหัวแบบ Pixel Point ก็ยังมี Jot touch รุ่นใหม่หัว Pixel Point ที่เพิ่งเปิดตัวเปิดขายไปอีกด้ามมาให้เลือกซื้อ การใช้งานทั่วไปสำหรับ Ink ผมไม่แน่ใจว่าสามารถใช้งานร่วมกับแอปอื่นได้ด้วยหรือไม่ ในกรณีที่ Adonit รองรับการใช้งานแล้วตัว Ink ของ Adobe จะได้อานิสงค์ไปด้วยหรือไม่เพราะเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน ส่วนไม้บรรทัด Slide ณ ตอนนี้ยังไม่เห็นประโยชน์จริง ๆ สักเท่าไหร่ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าตัวแอปที่รองรับ Slide ก็มีไม้บรรทัดเสมือนในแอปมาให้ใช้งานได้ไม่ต่างกัน เลยไม่รู้ว่า Adobe ทำออกมาแค่ให้เป็นคู่กันเพียงเท่านี้จริง ๆ แค่นั้นหรือ
ราคา : $199 (ยังไม่มีจำหน่ายในเอเชีย)
kangg