Audio-Technica
Audio-Technica
แอปเปิ้ลออก iOS 8 มาให้ทุกคนได้ดาวน์โหลดแล้ว มีอะไรที่น่าสนใจบ้างเรามาดูไปพร้อม ๆ กันครับ
สำหรับ iOS 8 เราได้เห็นพัฒนาการมาตั้งแต่ beta 1 ถึงวันนี้มีสิ่งที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะ ๆ ภาพรวมของ iOS 8 เหมือนที่หลายคนบอกตั้งแต่ปีที่แล้วว่า iOS 7 คือเบต้าของ iOS 8 ซึ่งจะมาสมบูรณ์จริง ๆ ในปีนี้อย่างที่เราได้ใช้ใน iOS 8
หลายสิ่งใน iOS 8 ที่ได้ใช้ไม่ได้เป็นการปรับฟีเจอร์ให้หวือหวา แต่เป็นการปรับปรุงรายละเอียดจาก iOS 7 ให้ดีมากขึ้น ฟีเจอร์ใหม่จริงที่ไม่ได้ปรับปรุงจากของเดิมคือแอป Health เน้นการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพเป็นหลัก นอกนั้นเรามาไล่เรียงดูไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับแอป Health จะมีแค่ใน iPhone และ iPod touch เท่านั้น บน iPad ไม่มีแอปนี้แต่อย่างใด เหมือนกับกรณีแอป Passbook ที่แอปเปิ้ลไม่ใส่มาใน iPad จุดนี้แอปเปิ้ลคงจะมองว่า iPad ไม่ใช่เครื่องพกพกติดตัวในชีวิตประจำวันก็เป็นได้
Health เป็นแอปกลางสำหรับเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ, ออกกำลังกาย, การนอนหลับ, ข้อมูลด้านโภชนาการ ตัวแอป Health เองไม่ได้ทำได้อัตโนมัติทุกอย่างที่สามารถนับได้เลยมี การนับจำนวนก้าวเดิน, ระยะทางคร่าว ๆ ในแต่ละวันว่าเราเดินหรือวิ่งไปกี่กิโลเมตร ส่วนที่เหลืออย่างเช่นการนอนหลับ ข้อมูลด้านสุขภาพและอื่น ๆ เบื้องต้นเราต้องใส่ข้อมูลแต่ละอย่างเอง หรือ…รอให้มีแอปอื่น ๆ ที่สามารถซิงค์ข้อมูลเข้าไปเก็บใน Health ซึ่งตอนนี้ในแอป Health มีเค้าลางของการเก็บข้อมูลจาก Nike Fuel มาแล้ว เชื่อได้ว่าแอปด้านออกกำลังกายอื่น ๆ รวมถึงอุปกรณ์ Fitness Tracker น่าจะมีการปรับให้มาซิงค์ข้อมูลเข้าใน Health ด้วยเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ตัวนับก้าวก็ดีนับระยะทางก็ดีในแอป Health จะทำงานอัตโนมัติแค่เฉพาะบน iPhone 5s เท่านั้น เพราะตัวเครื่องมีชิป M7 เป็นหน่วยประมวลผลส่วนนี้แยกมาเฉพาะ ซึ่งบนเครื่องรุ่นเก่าในส่วนของการจำนวนก้าว การนับระยะทาง จะต้องใส่ข้อมูลเอาเอง
ในส่วนอื่น ๆ ของ Health ซึ่งผมว่าเป็นข้อดีและห่วยในการใช้งานพร้อม ๆ กันคือการให้ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ของตัวเรา (Medical ID) เช่น ชื่ออะไร, อายุเท่าไหร่, มีการแพ้ยาหรือไม่, มีโรคประจำตัวอะไร เพื่อที่ว่าเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินเราเจ็บป่วยกะทันหัน คนที่มาเจอเราจะได้เรียกดูข้อมูลส่วนนี้ได้เลยทันทีในเบื้องต้น ซึ่งถ้าดูจากที่ผมเขียนจะเห็นว่าดีเลยแหละ
หน้าจอภาษาอังกฤษและภาษาไทยของ Medical ID หรือ ID ทางแพทย์ บน iPhone
แต่ในการเรียกดูข้อมูลของตัวเราตามข้างต้นไม่ได้ง่ายนัก เพราะในการเรียกดูข้อมูลเราต้อง
ขั้นตอนการเรียกดูข้อมูลไม่เป็นมิตรสักเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่าต้องเลื่อนหน้าจอไปตรงไหนถึงจะเจอข้อมูลดังกล่าว ผมเองก็นึกไม่ออกเช่นกันว่าถ้าจะทำให้การเรียกดูข้อมูลง่ายกว่านี้จะต้องทำแบบไหน เพราะแบบข้างต้นส่วนตัวผมว่ายากไปสำหรับช่วงความเป็นความตายที่ต้องเข้าถึงข้อมูลให้ได้เร็วที่สุด
กว่าจะเข้าดูข้อมูลการแพทย์ในกรณีฉุกเฉินไม่ง่ายเลย หลายขั้นตอนเกินไป
และที่สำคัญคือเมนูข้อมูลเกี่ยวกับการแพทย์ของตัวเรา (Medical ID) มีเฉพาะบน iPhone ไม่มีบน iPod touch อีกต่างหาก จุดนี้ผมเองก็งงกับแอปเปิ้ลมาก ๆ
หน้าตาแอป Health บน iPod touch ไม่มีเมนู Medical ID มาให้
ภาพรวมสำหรับ Health น่าจะมีแอปอื่นที่ปรับมาใช้ Health เป็นศูนย์กลางเก็บข้อมูล ซึ่งก็จะเป็นผลดีถ้าเราใช้แอปด้านสุขภาพ ด้านออกกำลังกายหลาย ๆ แอปจะได้เข้ามาในแอปเดียวแล้วดูข้อมูลทั้งหมดได้เลย ในส่วนของ Medical ID ถ้าเราจะใส่ข้อมูลก็ควรใส่ข้อมูลจริงให้หมดอย่าใส่หลอก ๆ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอครับ
ไม่ใหม่จ๋าแต่มีการปรับปรุงค่อนข้างเยอะ โดยในแอปมีการบอกข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามาหลายอย่าง อาทิ ความกดอากาศ (Pressure), ทัศนวิสัยการมองเห็น (Visibility) , จุดน้ำค้าง (Precipitation) และดัชนี UV (UV Index) ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้จากข่าวเก่าที่เราเคยรายงานไปแล้ว
ข้อมูลเพิ่มเติม : แอป Weather ใน iOS 8 แจ้งข้อมูลค่าดัชนีรังสี UV ด้วย
สำหรับ Safari ใน iOS มีการเพิ่มความสามารถในการเรียกดูหน้าเว็บแบบ Desktop เข้ามา ซึ่งหลาย ๆ เว็บพอพบว่าเข้าด้วยโทรศัพท์มือถือก็จะส่งข้อมูลออกมาเป็นหน้าเว็บสำหรับมือถือ แต่บางทีเราอยากเปลี่ยนเข้าหน้าเว็บปกติก็จะทำได้ไม่ง่ายนัก ใน iOS 8 ได้เตรียมส่วนนี้มาให้แล้วกับ Request Desktop Site
การเรียกใช้ Request Desktop Site ให้เราแตะที่ช่องพิมพ์ URL แล้วเลื่อนหน้าจอลงมาเล็กน้อยจะพบกับ Request Desktop Site ซ่อนอยู่
ความเร็วในการใช้ Safari ของ iOS 8 ผมไม่ได้รู้สึกว่าต่างกับ iOS 7 คือถ้าอุปกรณ์ของคุณเป็นรุ่นใหม่หน่อยอย่าง iPhone 5, iPhone 5s, iPad Air ก็จะไม่ได้รู้สึกต่างกัน ในทางกลับกันถ้าเป็นเครื่องเก่าหน่อยอย่าง iPhone 4s อืดแบบไหนหรือมีหน่วงแบบไหนตอนใช้ iOS 7 พอมาเป็น Safari บน iOS 8 ก็ไม่ต่างกัน
กล้องถ่ายรูปใน iOS 8 มีการปรับปรุงพอควร โดยมีการเพิ่มฟังก์ชั่นการถ่ายรูปแบบตั้งเวลาเข้ามาด้วย สามารถตั้งเวลาได้ 3 วินาที และ 10 วินาที นอกจากนั้นยังมีฟีเจอร์ Time-Lapse เพิ่มเข้ามาโดยกล้องจะถ่ายรูปเป็นช่วง ๆ เมื่อถ่ายเสร็จจะบีบเป็นวิดีโอให้เรา
ความสามารถในกล้องที่เพิ่มขึ้นขณะถ่ายภาพน่าจะเป็นฟีเจอร์การปรับแสงขณะถ่ายภาพได้ด้วย การใช้งานให้เราแตะเพื่อโฟกัสไปยังวัตถุที่ต้องการบริเวณกรอบสี่เหลี่ยมโฟกัสที่ขึ้นมาเราจะเห็นว่ามีไอคอนพระอาทิตย์อยู่ด้วย ถ้าเป็นการถ่ายรูปแนวตั้งจะใช้วิธีเลื่อนขึ้นลง ส่วนแนวนอนจะเลื่อนซ้ายขวา
เรื่องกล้องถ่ายรูปที่ปรับปรุงไม่ได้เก่งล้ำเพราะทุกอย่างที่แอปเปิ้ลใส่มาเราสามารถหาแอปเสริมเหล่านี้ได้จาก App Store ถือว่าเป็นการเสริมให้ใช้งานได้สะดวกตามสมัยนิยมมากขึ้นโดยไม่ต้องไปดาวน์โหลดแอปเพิ่มเติม
จุดนี้มีส่วนสัมพันธ์กับฟีเจอร์อื่นด้วย แต่ขอพูดถึงความสามารถหลัก ๆ ก่อนแล้วกัน โดย Photos ภาพรวมไม่ได้มีอะไรต่างออกมาสักเท่าไหร่ แต่มี 1 ฟีเจอร์ที่เราควรจะต้องทราบคือแอปเปิ้ลเพิ่มโฟลเดอร์ Recently Deleted เข้ามาด้วย หมายถึงว่าจากเดิมที่เวลาเราสั่งลบรูป พอกดลบคือลบไปเลยหายไปจากเครื่องเลย แต่ตอนนี้ใน iOS 8 กดลบรูปแล้ว รูปจะยังอยู่ในโฟลเดอร์ Recently Deleted เราต้องตามไปลบซ้ำอีกทีในโฟลเดอร์นี้ด้วย
เรื่องนี้ก็มีทั้งข้อดีในกรณีที่เราเผลอลบรูป อย่างน้อยรูปก็ไม่ได้หายไปทันทีเหมือนที่ผ่านมา ส่วนมุมไม่ดีไม่โอเคคือซ้ำซ้อนต้องมาไล่ลบรูปที่ไม่ต้องการ 2 ครั้ง แต่ถ้าเราปล่อยรูปทิ้งไว้ใน Recently Deleted ไปเรื่อย ๆ รูปก็จะถูกลบไปเองภายในระยะเวลา 30 วัน เท่าที่ได้ใช้ยังหาไม่เจอว่าต้องเข้าไปตั้งค่าตรงไหนถึงจะปรับระยะเวลาลบรูปอัตโนมัติได้เอง
คีย์บอร์ดใน iOS 8 มีการเพิ่มระบบเดาคำศัพท์เข้ามา (Predictive) สามารถใช้ร่วมกับภาษาไทยได้ด้วย เท่าที่ได้ใช้ระบบเดาคำศัพท์ภาษาไทยทำให้พิมพ์เร็วขึ้นนิดหน่อย เพราะขณะที่เรากำลังพิมพ์คำ ๆ นี้อยู่ตัวระบบเดาคำศัพท์ก็จะมีคำนั้น ๆ และใกล้เคียงขึ้นมาให้เราเลือก แต่การใช้ระบบเดาคำศัพท์ร่วมกับภาษาไทยจังหวะการวรรคเวลากด Spacebar จะเปลี่ยนไปจากปกติกด 1 ทีเท่ากับการเว้นว่าง 1 วรรค พอมาใช้ระบบเดาคำศัพท์เวลาเคาะวรรคตอนพิมพ์ภาษาไทยเคาะทีแรกจะเหมือนเป็นการเคาะเพื่อให้ทราบว่าไม่ใช่ระบบเดาคำศัพท์แล้วต้องเคาะอีกทีเพื่อเป็นการเคาะวรรคจริง ๆ แต่กรณีนี้จะไม่เกิดขึ้นกับภาษาอังกฤษเพราะคำในภาษาอังกฤษจะเป็นคำ ๆ และมีการเคาะเว้นวรรคอยู่แล้ว ซึ่งระบบระบบเดาคำศัพท์รู้ในจุดนี้
ส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในคีย์บอร์ดคือระบบการพูดแล้วให้เครื่องพิมพ์ตาม (Dictation) พัฒนามาจากเวอร์ชั่นเบต้าที่เคยทดสอบช่วงแรก ๆ (ในวิดีโอด้านล่างผมทดสอบตอน iOS 8 beta 1) มาถึงตอนนี้คือพูดแล้วให้พิมพ์ตามได้ถูกต้องมากขึ้นกว่าใน iOS 8 beta ความแม่นยำในการแปลงคำพูดภาษาไทยจากเสียงของผมเป็นข้อความ ผมให้อยู่ในระดับ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเพื่อนอีกคนที่ได้ใช้ iOS 8 มาตั้งแต่ Beta แรก ๆ ถึงตอนนี้บอกว่าสำหรับตัวเขาคิดว่าหวังผลได้ 90 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้ลองใช้กันดูนะครับสะดวกมากขึ้นจริง ๆ แต่ทั้งนี้เราจำเป็นต้องเปิดใช้งาน Siri ไว้ด้วย โดยการจะพูดเป็นภาษาไทยเราต้องเลือกคีย์บอร์ดให้เป็นภาษาไทยเสียก่อนแล้วกดที่ปุ่มไมโครโฟนข้าง ๆ ปุ่ม Spacebar ส่วนภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกันคือเลือกใช้คีย์บอร์ดภาษาที่ต้องการเสียก่อน
พูดแล้วให้ iPhone พิมพ์ตาม เทียบกับประโยคต้นฉบับดูนะครับ
จุดอ่อนของฟีเจอร์พูดแล้วให้เครื่องพิมพ์ตามเท่าที่ได้ใช้ น่าจะเป็นเรื่องคำซ้ำที่มีไม้ยะมกตามหลัง เท่าที่ลองหลาย ๆ ครั้งเครื่องแปลงเป็นข้อความไม่ถูก อีกอย่างคือถ้ามีการพูดไทยกับอังกฤษรวมกันในประโยคเดียวก็มีแปลงถูกต้องบ้างไม่ถูกต้องบ้าง เช่น มีคำว่า iOS 8 อยู่ในประโยคเครื่องจะพิมพ์ออกมาเป็น ไอโอเอส บ้าง เป็น iOS บ้าง และเป็นคำอื่นที่ไม่ถูกต้องเลยก็มีเหมือนกัน และถ้าอยู่นอกบ้านเช่นเดินอยู่ตามห้างที่มีเสียงรอบข้างดัง ๆ ความแม่นยำในการแปลงคำพูดจะลดลงมาก ประโยคเดียวกันผมลองในห้องกับตอนเดินอยู่ริมถนนให้ผลลัพธ์ต่างกันเยอะ
คีย์บอร์ดแบบลากนิ้วไปมา (Swipe Keyboard) ที่แอปเปิ้ลเปิดให้นักพัฒนาสามารถเขียนเสริมเข้ามาใช้งานแทนคีย์บอร์ดปกติได้ ของภาษาอังกฤษเริ่มมีโชว์บ้างแล้ว แต่ภาษาไทยยังไม่มีนักพัฒนาคนไหนออกมาประกาศตัวว่าจะลงมือทำในส่วนนี้ คงต้องรอดูกันต่อไป
ขนาดของตัวหนังสือภาษาไทยใครที่ลง iOS 8 เสร็จจะเห็นได้ว่าขนาดของตัวหนังสือภาษาไทยใหญ่ขึ้นแบบเห็นได้ชัด อย่างในแอป Messages จะเห็นเลยว่าตัวหนังสือใหญ่ขึ้น ในแอปอื่น ๆ ก็เช่นเดียวกัน จุดนี้ถือเป็นข้อดีที่แอปเปิ้ลปรับปรุง ซึ่งคงเป็นการปรับปรุงเพื่อรองรับการใช้บนหน้าจอที่ใหญ่ขึ้นของ iPhone 6 และ iPhone 6 Plus ด้วย
สำหรับดิกชันนารีหรือพจนานุกรมภาษาไทยใน iOS 8 มีมาให้ด้วย แต่เป็นพจนานุกรมแบบ ไทย-ไทย คือแปลความหมายของคำภาษาไทยได้ ยังไม่มีพจนานุกรม อังกฤษ-ไทย เข้ามา ในอนาคตถ้ามีเข้ามาน่าจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย ส่วนพจนานุกรม ไทย-ไทย แอปเปิ้ลเลือกใช้พจนานุกรมภาษาไทยฉบับทันสมัยและสมบูรณ์ของสำนักพิมพ์ซี-เอ็ด
ต่อเนื่องจากคีย์บอร์ด คือในส่วนของ Messages ที่มีการเพิ่มการส่งข้อความในรูปแบบเสียงเข้ามาในตัวแอปเสียที การใช้งานให้กดเรากดค้างที่ปุ่มไมโครโฟนด้านท้ายกรอบข้อความแล้วก็พูดเข้าไป พูดเสร็จยกนิ้วออกจะฟังก่อนหรือจะส่งทันทีก็ได้ ระยะหวังผลของการพูดเท่าที่ลองน่าจะไม่เกิน 1 ช่วงแขนและบรรยากาศรอบข้างไม่ควรมีเสียงดังมาก ซึ่งไมโครโฟนใน iPhone 5s ตัวที่ใช้ iOS 8 ยังรับเสียงได้ดีอยู่
แผนที่ของแอปเปิ้ลนับตั้งแต่ iOS 6 เรื่อยมาถึง iOS 7 และมาถึง iOS 8 มีการปรับปรุงพัฒนามาตลอด เพียงแต่สิ่งที่แอปเปิ้ลปรับปรุงและพัฒนายังไม่มาถึงในไทย ภาพรวมของแผนที่ในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แสดงชื่อสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น ในจังหวัดอื่นมีการอัพเดทข้อมูลบ้าง อาทิ ในจังหวัดสระแก้วที่ผมเคยไปพักที่ รีเวอร์ รีสอร์ท แอนด์ สปา เมื่อครั้งน้ำท่วมกรุงเทพ ตอนนี้มีข้อมูลเข้าในในแผนที่แอปเปิ้ลแล้ว แต่ตำแหน่งที่แผนที่ระบุคือผิดไปจากความจริงมากหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งตัวผมเองเคยแจ้งพิกัดของ รีสอร์ท แอนด์ สปา ไปตั้งแต่ iOS 7 คือที่นี่ชื่อนี้ แต่ไหงพอมีสถานที่นี้ปรากฏกลับไม่ใช่พิกัดตามที่เราเคยแจ้งไว้ จุดนี้แผนที่แอปเปิ้ลก็ยังเชื่อใจแบบ 80 90 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้อยู่ดี
ชื่อสถานที่ถูกต้อง แต่พิกัดผิดตำแหน่ง
ส่วนอื่น ๆ ในแผนที่ยังไม่มีการบอกสภาพจราจรในกรุงเทพฯเช่นเดิม การค้นหาสถานที่ในกรุงเทพฯด้วยภาษาไทยทำได้ดีขึ้นแต่ยังไม่ดีชนิดว่าหาอะไรก็เจอแบบ Google Maps
รวม ๆ แล้วสำหรับแผนที่ของแอปเปิ้ลถึงตอนนี้เข้าปีที่ 3 หวังผลแค่พอใช้งานได้บ้างเท่านั้น
iCloud Drive ไม่ใช่ฟีเจอร์ใหม่ถอดด้ามซะทีเดียว แต่เป็นการปรับปรุงพื้นที่เสมือนจากเดิมที่แอปเปิ้ลจะแยกมาให้เป็นส่วน ๆ แต่ตอนนี้ทุกสิ่งที่คุณใช้เกี่ยวกับแอปเปิ้ลไม่ว่าจะเป็นการเก็บไฟล์ต่าง ๆ ใน iCloud ผ่านแอปของแอปเปิ้ลเองก็ดี ผ่านแอปอื่นก็ดี รวมถึงรูปภาพใน Photos ที่บางคนจะเปิดใช้งาน Photo Stream อัพรูปภาพ 1,000 รูปล่าสุดโดยที่ไม่ได้ใช้พื้นที่ของ iCloud แต่อย่างใด พอมาเป็นระบบ iCloud Drive ทุกอย่างทั้งไฟล์ต่าง ๆ , อีเมลที่ใช้ @iCloud หรืออื่น ๆ ที่เป็นของแอปเปิ้ล , รูปภาพ, iCloud Backup จะใช้พื้นที่เดียวกันทั้งหมด
โดยเบื้องต้นแอปเปิ้ลให้พื้นที่ใช้งานฟรี 5GB ถามว่าพอรึเปล่า ถ้าใช้งานจริงจังไม่พอแน่ ๆ เพราะถ้าเราเปิดให้ทุกรูปและวิดีโออัพโหลดอัตโนมัติเข้า iCloud Drive ไม่นานก็เต็ม แล้วไหนจะอยากสะดวกด้วยการใช้ iCloud Drive เข้าไปด้วย แค่ 2 อย่างนี้ก็ทำให้พื้นที่ iCloud Drive เต็มได้ง่าย ๆ ภายในไม่กี่วัน
ทางออกทางแก้ของ iCloud Drive มีหลายแบบครับ ทางแรกคือไม่เปิดใช้ฟีเจอร์ iCloud Photo Library ที่ทำหน้าที่อัพโหลดทุกรูปทุกวิดีโอแบบอัตโนมัติเก็บใน iCloud Drive ก็จะเป็นการประหยัดพื้นที่ใน iCloud Drive ของเราได้เยอะ ส่วน iCloud Backup ว่ากันตามเนื้อผ้าจัดว่าเป็นฟีเจอร์ที่สะดวกดี แต่ถ้าอุปกรณ์ iOS ของเราแต่ละเครื่องมีความจุเยอะ และดันมีหลายเครื่องด้วย แถมเปิดใช้ iCloud Backup ทุกเครื่องด้วยพื้นที่ 5GB ไม่พอแน่นอน ทางเลือกคือเลือกใช้ iCloud Backup แค่เฉพาะกับบางเครื่อง หรือย้ายการ Backup มาไว้กับ iTunes บนเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนในอดีต ก็จะเป็นการประหยัดพื้นที่ iCloud Drive ได้สุด ๆ
แต่ถ้าคุณไม่อยากมายุ่งวุ่นวายกับเครื่องคอมพิวเตอร์ อยากใช้ iCloud Drive อย่างเดียวแต่พื้นที่ไม่พอ ทางเลือกคือจ่ายเงินเพิ่มให้แอปเปิ้ลเพื่อเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ $0.99 ต่อเดือนเพิ่มพื้นที่เป็น 20GB ไปจนถึง $19.99 ต่อเดือนเพื่อพื้นที่ใช้งาน 1TB
ในส่วนนี้ของ iCloud Drive ตัวผมเองก็ต้องตัดใจไม่ใช้ iCloud Backup เพราะอุปกรณ์ iOS รอบตัวมีเยอะเกินที่จะแบ็คอัพไว้ใน iCloud Backup ได้ทั้งหมด ส่วนเรื่องรูปภาพผมยังไม่เปิดใช้ฟีเจอร์ iCloud Photo Library เพราะแม้ถ่ายรูปไม่เยอะแต่ถ้าเราเปิดใช้ iCloud Photo Library น่าจะทำให้ตัวเครื่องต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นขณะอัพโหลดภาพและวิดีโอที่ส่งผลมาถึงแบตเตอรี่ในเครื่องด้วย รวมถึง 3G ที่ใช้งานอยู่ด้วย
ทั้งหมดทั้งมวลถ้าคุณไม่ได้เปิดใช้ iCloud เลยก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตครับ
ฟีเจอร์ที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน iOS 8 ที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่คงหนีไม่พ้น Battery Usage (อยู่ใน Settings > General > Usage) มีการปรับปรุงให้เราสามารถดูได้ว่าแอปที่เราใช้งานแต่ละแอปใช้พลังงานเท่าไหร่ ซึ่งแอปไหนเราใช้งานเยอะก็แน่นอนว่ามีการใช้พลังงานเยอะตามไปด้วย
ส่วนว่าใช้ iOS 8 แล้วเปลืองแบตเตอรี่หรือประหยัดแบตเตอรี่กว่า iOS 7 ส่วนตัวผมว่าพอ ๆ กันใน iOS 8 ออกจะเปลืองกว่าด้วยซ้ำเพราะหลาย ๆ ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาต่างก็ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจะน้อยจะมากก็ขึ้นอยู่กับแต่ละฟีเจอร์ไม่ว่าจะในแอป Heath ที่มีการนับจำนวนก้าวเดินให้อัตโนมัติ (เฉพาะบน iPhone 5s) ถึงแม้ชิป M7 จะกินไฟน้อยแต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการใช้พลังงานอยู่ดี หรืออย่าง Dictation ที่เราพูดแล้วให้ iPhone พิมพ์ตามขณะที่ประมวลผลก็จำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ต้องใช้พลังงานด้วยเช่นกัน
สรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับ iOS 8 และมีอีกหลายๆๆๆ เช่นในส่วนของ Music ที่ผมไม่ได้เอ่ยถึงเลยก็มีการปรับแต่งหน้าตาใหม่เช่นกัน และอีกหลายสิ่งสิ่งที่ไม่ได้กล่าวถึง แอปเปิ้ลปรับปรุงจุดเล็กจุดน้อยให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำฟีเจอร์ใหม่ว้าว ๆ ถ้ามองแค่ทั่วไปไม่ได้ใช้งานอาจมองว่า iOS 8 โคตรธรรมดาไม่เห็นมีอะไรเลยใหม่เลย แต่เมื่อได้ใช้งานจะพบว่าแอปเปิ้ลมีการปรับปรุงจุดเล็กจุดน้อยอยู่มากเหมือนกัน พอรวมกันก็ช่วยให้เราใช้งานเครื่องได้สะดวกมากขึ้น
สิ่งที่ไม่เข้าใจและยังงง ๆ กับแอปเปิ้ลบน iOS 8 คือเรื่อง Health ที่มีฟีเจอร์บน iPhone กับ iPod touch ไม่เท่ากันดูแล้วแปลก ๆ ไปหน่อย
ผิดหวังใน iOS 8 คือแผนที่ ที่ยังทำอะไรไม่ได้มากนัก ไม่รู้ว่าถึงตอนนี้แอปเปิ้ลยังเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาแผนที่มากน้อยแค่ไหน
ส่วนที่ชอบใน iOS 8 สำหรับผมตอนนี้คือพูดแล้วให้ Siri พิมพ์ตามที่สามารถใช้งานได้ดีและหวังผลได้, ตัวหนังสือภาษาไทยใหญ่ขึ้น
สำหรับเรื่องความเร็วในการใช้งานส่วนตัวผมเท่าที่ได้ใช้บน iPad 2, iPod touch (5th Gen), iPhone 4s, iPhone 5s และ iPad Air ไม่ค่อยต่างจากที่ได้ใช้ iOS 7 คือเครื่องไหนช้าหรือเร็วประมาณไหนบน iOS 7 พอมาใช้ iOS 8 ก็ทำได้ประมาณนั้นไม่ดีไม่แน่กว่ากันสักเท่าไหร่ มีบ้างที่บางครั้งรู้สึกว่าบน iOS 8 ดูกระฉับกระเฉงกว่า (ใช้บน iPhone 5s) แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรขนาดนั้น รวม ๆ แล้วไม่ได้รู้สึกต่างกับการใช้ iOS 7
kangg