Audio-Technica
Audio-Technica
มีรายงานจากผู้ใช้งานเว็บ pantip ว่าตัวเขาอยู่ในไทยโดนใครก็ไม่ทราบสวมรอยใช้แอปเรียกแท็กซี่ Uber ที่ประเทศอังกฤษ
ผู้ใช้งานเว็บ pantip.com ‘สมาชิกหมายเลข 1686343’ ได้ตั้งกระทู้เกี่ยวกับบริการแท็กซี่ Uber ว่าแอคเคาท์ Uber ของเขาโดนมือถือแฮคไปใช้เรียกแท็กซี่ในประเทศอังกฤษ ซึ่งตามขั้นตอนการเรียกจะมีโทรศัพท์จากคนขับโทรมาหาผู้ใช้บริการนัดแนะกัน ซึ่งโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นเบอร์ต่างประเทศในเวลาตีสี่ครึ่ง แต่ตัวเขาไม่ได้รับสาย ถัดมาถึงช่วงเย็นวันเดียวกันนั้นมี SMS บอกว่ามีการใช้บัตรเครดิต 52.25 ปอนด์จาก Uber (ประมาณ 2,800 บาท) โดยตัวเจ้าของกระทู้ก็รีบโทรแจ้งอายัดบัตรเครดิตทันที ซึ่งทั้งหมดในเวลาไล่เรี่ยกันเขาโดนใช้บัตรเครดิตไป 4 ครั้งด้วยกัน แบ่งเป็นค่าเรียกบริการ 3 ครั้ง ๆ ละ 10 ปอนด์ ไม่มี SMS แจ้งเพราะยอดไม่ถึง 1,000 บาท และอีกครั้งคือจำนวน 52.25 ปอนด์ นอกจากเจ้าของกระทู้แล้วก็มีอีก 2 ความคิดเห็นบอกว่าโดนแฮค Uber เช่นกัน
ในกระทู้ดังกล่าวเหมือนมีเจ้าหน้าที่ของ Uber ประเทศไทยออกมารับเรื่องว่าให้แจ้งเรื่องไปที่อีเมล supportbangkok@uber.com แต่ยังถึงตอนนี้ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าว่า Uber จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่อง Uberโดนแฮคในตอนนี้ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในต่างประเทศก็มีรายงานว่าระบบ Uber โดนแฮคเช่นกัน ซึ่งวิธีจัดการกับปัญหาของ Uber ยังไม่มีความชัดเจนและตอบอีเมลลูกค้าไม่ประทับใจนัก
สำหรับการยกเลิกบัตรเครดิตของเราจากระบบ Uber ไม่สามารถทำผ่านหน้าเว็บได้แบบง่าย ๆ เพราะ Uber ไม่มีปุ่ม Delete บัตรเครดิตอยู่บนหน้าเว็บและบนแอป จำเป็นต้องติดต่อทางอีเมลไปที่ supportbangkok@uber.com เพื่อให้ทาง Uber ลบข้อมูลบัตรเครดิตของเราออกไปก่อนในช่วงนี้เผื่อความสบายใจ
ที่มา : pantip.com
บัตรเครดิตกับโลกออนไลน์ เรื่องโดนแฮคมีอยู่เป็นประจำทำให้คนที่ใช้บัตรเครดิตกับเว็บ หนาว ๆ ร้อน ๆ ทุกครั้งที่มีข่าวว่าเว็บที่เราใช้งานโดนแฮค เว็บที่เราใช้งานไม่ปลอดภัย บริการที่เราใช้งานมีช่องโหว่ให้แฮคเกอร์ล้วงข้อมูล
ทางออกเท่าที่ผมคิดได้ในตอนนี้คือบัตรเดบิตเสมือนแบบเติมเงิน อย่างน้อย ๆ ก็ช่วยจำกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่ให้สูงมากเกินไปในกรณีโดนแฮค โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิตและใช้บัตรเดบิตอย่างเดียวซึ่งมีความเสี่ยงกว่าเพราะการตัดเงินทุกครั้งหมายถึงตัดเงินสดที่อยู่ในบัญชีของเราออกไปทันที ซึ่งค่ายมือถือในบ้านเราทั้ง 3 รายมีบริการนี้ทุกราย ไม่ว่าจะเป็น AIS mPAY, dtac Paysbuy และ true WeCard แต่ทั้ง 3 รายยังติดกับข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยว่ายังไม่ให้บัตรเดบิตเสมือนแบบเติมเงินเหล่านี้ใช้กับบริการต่างประเทศได้ ให้ใช้งานได้เฉพาะกับบริการภายในประเทศอย่างเดียว ซึ่งข้อกำหนดนี้ทำให้บัตรเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ซื้อของกับเว็บและบริการต่างประเทศได้ อาทิ iTunes Store, Uber, Ebay รวมถึงการผูกบัตรเข้ากับ Paypal
การใช้บัตรเดบิตเสมือนแบบเติมเงิน ผมมองว่ามีข้อดีคือไม่ใช่บัญชีหลักที่ผูกกับบัตรเดบิต, ไม่ใช่บัตรเครดิตหลัก เราสามารถใส่เงินเข้าไปได้ในจำนวนเท่าที่เราต้องการ อาจจะใส่ไว้เดือนละ 1,000 บาทเพื่อใช้กับบริการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับบัตรเครดิตหรือเดบิตหลักของเรา พอเงินในบัตรหมดค่อยเติมเงินเข้าไป
เท่าที่หาข้อมูลเรื่องข้อกำหนดดังกล่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเพราะต้องการป้องกันการฟอกเงินด้วยส่วนหนึ่ง เพราะบัตรเหล่านี้ใครก็ได้สามารถเปิดใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องมีหลักฐานไม่ต้องแสดงตนกับธนาคารในการเปิดใช้งาน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องระวังบัตรกลุ่มนี้เป็นพิเศษ และจากช่วงปลายปีที่แล้วมีข้อมูลว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีข้อผ่อนปรนให้สามารถใช้งานบัตรเดบิตเสมือนที่ไม่ได้ออกโดยธนาคารสามารถใช้งานกับเว็บต่างประเทศได้แล้ว แต่จนแล้วจนรอดจนถึงตอนนี้บัตรเดบิตเสมือนแบบเติมเงินก็ยังไม่สามารถใช้งานกับบริการของต่างประเทศได้ ต้องตามข่าวเรื่องนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทยกันต่อว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตกันแน่
kangg